-
หลังจาก 1 เดือน
คุณจะต้องจ่าย บ. -
หลังจาก 6 เดือน
คุณจะต้องจ่าย บ. -
หลังจาก 1 ปี
คุณจะต้องจ่าย บ. -
หลังจาก 5 ปี
คุณจะต้องจ่าย บ.
“โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” หรือโรค NCDs ถือเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของโลก ที่คร่าชีวิตคนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานสมาพันธ์เครือข่าย NCD ประเทศไทย (Thai NCD Alliance) ระบุว่า โรคไม่ติดต่อเป็นแล้วไม่หาย เนื่องจากเกิดจากพันธุกรรม และคนเริ่ม “กินไม่เป็น อยู่ไม่เป็น” นั่นคือ กินไม่เป็น เริ่มกินมากเกินไป กินไม่ถูกต้อง ส่วนอยู่ไม่เป็น คือไม่ค่อยเคลื่อนไหว ขยับร่างกาย และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ทำให้คนอยู่นิ่งเฉยมากเกินไป ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อทั้งสิ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุนอกจากตัวเองที่เจ็บป่วยแล้ว ยังเป็นภาระของครอบครัว การเงิน เศรษฐกิจ สังคมและประเทศร่วมด้วย
ในสังคมถ้ามีผู้เจ็บป่วยจำนวนมาก ประสิทธิภาพการทำงานของคนป่วยก็สู้คนสุขภาพดีไม่ได้ การพัฒนาประเทศอาจจะไม่ได้ดีเท่าที่ควร เพราะสังคมป่วย ยิ่งสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะเผชิญกับปัญหากลุ่มโรค NCDs พบบ่อยคือ โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขในทุกประเทศทั่วโลกและประเทศไทย โดยโรคจะก่อตัวขึ้นช้า ๆ ใช้เวลา 10-20 ปี โดยไม่ปรากฏอาการ เมื่อถึงจุดที่โรคเปิดเผยตัวจะมีอาการเจ็บป่วยที่รุนแรง ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร หรือเกิดภาวะทุพพลภาพ ไม่สามารถทำงานหรือช่วยเหลือตนเองได้ ที่สำคัญคือเมื่อเป็น 1 โรคแล้ว มีโอกาสที่จะเป็นโรคที่ 2 ที่ 3 ตามมา
ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี ยํ้าว่า สุขภาพดีสำคัญกับทุกคนมาก แม้คนนั้นจะเป็นโรคหรือไม่เป็นโรค ทั้งโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ การมีสุขภาพดี ซึ่งโรคไม่ติดต่อเมื่อเป็นโรคแล้วหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น อายุมากขึ้นอาจจะเป็นโรคเบาหวาน แต่เราทำให้ตัวเองสุขภาพดีได้ก็จะทำให้มีอายุยืนเท่ากับคนปกติ โดยการดูแลสุขภาพให้ดีนั้นต้องเริ่มตั้งแต่ตั้งครรภ์ พ่อแม่ต้องดูแลลูกให้ถูกต้อง อย่าทำงานหาเงินสร้างครอบครัวจนปล่อยปละละเลยเรื่องสุขภาพ
“ทุกคนดูแลสุขภาพได้โดยเริ่มที่ตัวเอง ต้องกินเป็นอยู่เป็น คือ กินแค่พออิ่ม อาหารรสอ่อนหวาน อ่อนเค็ม ไม่มันจัด กินผักผลไม้ทุกมื้อ ไม่ดื่มเครื่องดื่มปรุงแต่งรส ดื่มนํ้าเปล่าเป็นหลัก ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกายประจำ รู้จักผ่อนคลายไม่เครียด ปรับสิ่งแวดล้อมให้ปลอดมลพิษ”
อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถสังเกตสุขภาพของตัวเองได้ โดยดูจากนํ้าหนักตัว รอบพุง และความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หรือถ้าเป็นโรคแล้วก็จะทำให้โรคสงบ ไม่รุนแรงขึ้นและไม่เพิ่มโรคมาอีก หากอยู่ในวัยสูงอายุ การ “กินเป็น อยู่เป็น” จะชะลอเวลาการเกิดโรคให้ช้าออกไปได้ ที่สำคัญ อยากให้ทุกคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดการบริโภคนํ้าตาลและเกลือโซเดียม บริโภคอาหารมันหรืออาหารทอดนํ้ามันแต่น้อย เพื่อให้ตนเองมีสุขภาพดี และต้องมีระเบียบวินัยกับตนเอง ต้องทำสมํ่าเสมอกว่า 1 เดือนขึ้นไป
อีกด้านหนึ่ง ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผอ.สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ระบุถึงการส่งเสริมการทำงานและป้องกันโรค NCDs ซึ่ง ขณะนี้ สสส.มีแผนสุขภาพชุมชนที่ได้ทำร่วมกับคนชุมชน เพื่อส่งเสริมให้คนออกกำลังกายมากขึ้น กินอาหารสุขภาพ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคไม่ติดต่อ หรือโรคต่าง ๆ ขอยํ้าว่า สุขภาพเป็นเรื่องใกล้ตัว รู้แล้วต้องใช้ทุกโอกาส ทุกเวลาของตนเองเพื่อทำให้สุขภาพดี อย่ารอใครมาสั่งหรือบังคับให้ทุกคนดูแลสุขภาพ แต่อยากให้ทุกคนเริ่มดูแลสุขภาพจากตัวเอง เปลี่ยนตัวเรา เมื่อเปลี่ยนตัวเองได้ สังคมก็จะเปลี่ยนไป
อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/article/741882
18 ก.ค. 65 / อ่าน 1182
14 ก.ค. 65 / อ่าน 1028
12 ก.ค. 65 / อ่าน 1262
11 ก.ค. 65 / อ่าน 1352
5 ก.ค. 65 / อ่าน 830
4 ก.ค. 65 / อ่าน 891