-
หลังจาก 1 เดือน
คุณจะต้องจ่าย บ. -
หลังจาก 6 เดือน
คุณจะต้องจ่าย บ. -
หลังจาก 1 ปี
คุณจะต้องจ่าย บ. -
หลังจาก 5 ปี
คุณจะต้องจ่าย บ.
ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไทยยังทรงตัว ปริ่ม 3 พันคนต่อวัน แต่พบผู้มาจากต่างประเทศติดเชื้อโควิด-19 พุ่งถึง 168 คน จาก 40 ประเทศ สาธารณสุขเตรียมชง ศบค.ขยายเวลาชะลอการเข้าประเทศระบบเทสต์แอนด์โกไปจนถึงสิ้นเดือน ส่วนพวกลงทะเบียนมาก่อนแต่ยังตกค้างให้เข้าไทยได้ถึงวันที่ 10 ม.ค. พร้อมชี้การระบาดเป็น คลัสเตอร์ช่วงนี้มาจากร้านอาหารกึ่งผับไม่ปฏิบัติตามกฎ จ่อดับฝันเปิดผับบาร์กลางเดือนนี้ ย้ำการตรวจ ATK ช่วยสกัดการแพร่กระจายเชื้อได้ ด้านนายกฯ สั่งมหาดไทยกำชับท้องถิ่นกำจัดขยะ “หน้ากากอนามัย- ชุดตรวจ ATK” ให้ถูกวิธี หวั่นกลายเป็นตัวแพร่เชื้อในชุมชน ขณะที่หลายจังหวัดทยอยประกาศงดเรียนออนไซต์ให้จัดเรียนออนไลน์แทนยาวถึง 14 ม.ค.
ไทยยังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดยืนยันเพิ่มอีก 229 คน ส่วนใหญ่ยังพบในผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,927 คน แยกเป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,738 คน จากเรือนจำ 21 คน มาจากต่างประเทศ 168 คน ใน 40 ประเทศ โดย 5 ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ สหราชอาณาจักร 25 คน สหรัฐอเมริกา 20 คน เยอรมนี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสวีเดน เท่ากันคือ 11 คน ขณะที่ผู้ป่วยรักษาหายเพิ่ม 2,903 คน อยู่ระหว่างรักษา 33,114 คน อาการหนัก 556 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 148 คน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,232,485 คน ยอดหายป่วยสะสม 2,177,633 คน
ผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม 18 คน เป็นชาย 12 คน หญิง 6 คน เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 16 คน มีโรคเรื้อรัง 1 คน พบผู้เสียชีวิตมากสุดใน จ.เชียงใหม่ 3 คน ส่วนกรุงเทพฯ วันนี้ผู้เสียชีวิตเป็นศูนย์ ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 21,738 คน สำหรับ 10 อันดับจังหวัดผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 358 คน ชลบุรี 351 คน อุบลราชธานี 206 คน ขอนแก่น 143 คน เชียงใหม่ 97 คน นครศรีธรรมราช 96 คน สมุทรปราการ 90 คน ภูเก็ต 64 คน นนทบุรี 63 คน และบุรีรัมย์ 54 คน ส่วนจังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อ รายใหม่ ได้แก่ จ.สิงห์บุรี และ จ.อุทัยธานี ขณะที่การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 2 ม.ค.ฉีดได้เพิ่มอีก 19,692 โดส รวมผู้ได้รับวัคซีนสะสม 104,491,859 โดส
ต่อมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า วันที่ 3 ม.ค. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงานพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้น 229 คน สะสมทั้งหมด 1,780 คน จังหวัดที่พบมากที่สุดยังเป็นกรุงเทพมหานคร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ชลบุรี และภูเก็ต โดยยังคงพบการติดเชื้อในผู้เดินทางเข้าประเทศ
ส่วนกรณีข้อสั่งการให้เลื่อนมาตรการ Test & Go ออกไปนั้น นายอนุทินกล่าวว่า จากสถานการณ์ที่ทั่วโลกพบการติดเชื้อโอมิครอนเพิ่มขึ้น ทำให้เราต้องประกาศชะลอการเดินทางเข้าประเทศในระบบ Test & Go เพื่อประเมินสถานการณ์จนถึงวันที่ 4 ม.ค. แต่จนถึงขณะนี้ยังคงพบผู้เดินทางเข้าประเทศติดเชื้อโอมิครอนต่อเนื่อง ในที่ประชุม EOC ของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 3 ม.ค. มีปลัดกระทรวง อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้บริหารกระทรวงฯ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นให้ สธ.เสนอต่อ ศบค.พิจารณา เลื่อนมาตรการ Test & Go ออกไปจากเดิมไปจนถึงสิ้นเดือน ม.ค. เพื่อความสบายใจในเรื่องของมาตรการเข้าประเทศ และความปลอดภัยของคนในประเทศ จำเป็นต้องมีนโยบายให้เลื่อนเปิด Test & Go ออกไป จะเสนอที่ประชุม ศบค.พิจารณาเห็นชอบทันที
ส่วนผู้เดินทางในระบบ Test & Go ที่ยังค้าง อยู่นั้น นายอนุทินกล่าวว่า ผู้ที่ลงทะเบียนในระบบ Test & Go มาก่อนหน้านี้ ต้องขอความร่วมมือว่า หากต้องการใช้สิทธิตามที่ลงทะเบียน จะต้องเดินทางเข้ามาภายในวันที่ 10 ม.ค.นี้ ตามที่ได้กำหนดมาตรการสำหรับผู้เดินทางที่ลงทะเบียนมาก่อนหน้านี้ภายในวันที่ 10 ม.ค.เท่านั้น ถือเป็นเดดไลน์ หลังจากนี้ผู้เดินทาง เข้าไทยทุกคนจะต้องเข้าระบบกักตัว (Quarantine) หรือแซนด์บ็อกซ์เท่านั้น ส่วนการพิจารณาเปิดผับ เปิดสถานบันเทิงจากเดิมที่ระบุว่าจะเปิดในวันที่ 16 ม.ค.2565 ยังไม่ได้หารือ แต่ถ้าดูการระบาดมาจากแหล่งเดียวกัน ขอให้ผู้เกี่ยวข้องหารือกันอีกครั้ง
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่าภาพรวมทั่วโลกมีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ส่วนผู้เสียชีวิต มีทิศทางลดลงต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทย วันที่ 3 ม.ค.พบผู้ป่วยรายใหม่ 2,927 คน ผู้เสียชีวิต 18 คน แนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงกว่าการคาดการณ์เล็กน้อย ขณะที่ผู้เสียชีวิตลดลงต่อเนื่องและต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วนในกลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ พบผู้ติดเชื้อ 168 คน เป็นชาวต่างชาติร้อยละ 78 ส่วนใหญ่ผ่านระบบ Test&Go ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ภาพรวมการฉีดวัคซีนสะสม 104,491,859 โดส ความครอบคลุมเข็มหนึ่ง ร้อยละ 71.2 เข็มสอง ร้อยละ 64.1 และเข็มสาม ร้อยละ 9.8
นพ.เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า สถานการณ์พบจุดที่น่าเป็นห่วงคือการแพร่ระบาดลักษณะคลัสเตอร์ในหลายจังหวัดมีร้านอาหารกึ่งผับเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อ จากการติดตามสอบสวนโรคพบว่า ร้านเหล่านี้ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting คือระบบระบายอากาศไม่ดี จัดที่นั่งแออัด ไม่มีการเว้นระยะห่าง พนักงานไม่สวมหน้ากากอนามัย มีการจำหน่ายสุราและแสดงดนตรี รวมถึงจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ หลังสิ้นสุดเทศกาลปีใหม่ คนกลุ่มนี้อาจได้รับเชื้อโควิด-19 และเมื่อกลับมาเรียนหรือทำงานอาจนำเชื้อมาแพร่กระจายต่อได้ ดังนั้น ก่อนเดินทางกลับขอให้มีการตรวจคัดกรองด้วย ATK และเมื่อกลับมาถึงหากสามารถทำงานที่บ้านได้ให้ทำงานที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน แต่หากต้องเริ่มปฏิบัติงานทันทีขอให้ตรวจ ATK ก่อนเข้าทำงาน และในสัปดาห์ แรกให้ตรวจ 2 ครั้งห่างกันอย่างน้อย 3 วัน พร้อมทั้งเฝ้าระวังอาการจนครบ 14 วัน และงดการรวมกลุ่มพูดคุย/รับประทานอาหาร หากเกิดการติดเชื้อในโรงงานไม่จำเป็นต้องปิดโรงงาน แต่ขอให้ใช้มาตรการ Bubble & Seal เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อออกภายนอก
นพ.เกียรติภูมิยังกล่าวถึงการเปิดผับบาร์สถานบันเทิงที่เดิมจะให้เปิดได้กลางเดือนนี้ว่า ยังไม่ได้มีการพิจารณา แต่แนวโน้มน่าจะเลื่อนเปิดไปก่อน ส่วนรายละเอียดว่าจะเลื่อนไปเมื่อไหร่ จะหารือกันอีกครั้งในวันที่ 4 ม.ค.
ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์กรณีอิสราเอลพบคนติดเชื้อโควิด-19 ร่วมกับไข้หวัดใหญ่ว่าเป็นเรื่องที่เจอได้ ที่สำคัญการติดเช่นนี้ไม่ได้รวมกันจนกลายเป็นเชื้อใหม่ ขออย่าเข้าใจผิดและอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากข่าวที่ออกมา ผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้มีอาการรุนแรง และขณะนี้ไทยยังไม่เจอเคสลักษณะนี้เช่นกัน สิ่งสำคัญหากเราปฏิบัติตามคำแนะนำมาตรการในการป้องกันโรค อย่างการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโควิดจะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ โดยสามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ห่างจากวัคซีนโควิด 2 สัปดาห์
ต่อมานายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯห่วงใยประชาชนเริ่มเดินทางกลับหลังเทศกาลปีใหม่ ขอให้ขนส่งสาธารณะทุกประเภท เคร่งครัดมาตรการปฏิบัติเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเข้มงวด ให้พนักงานขับรถ ผู้บริการ และผู้โดยสาร ลงทะเบียนเข้าใช้แพลตฟอร์ม “SAVE THAI” และเช็กอิน-เช็กเอาต์ “ไทยชนะ” ทุกครั้งที่เดินทาง ตรวจสอบรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท เพื่อความปลอดภัย
ขณะที่ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ประชาชนใช้ชุดตรวจ ATK คัดกรอง ทำให้เกิดขยะจาก ATK รวมถึงหน้ากากอนามัยเพิ่มมากขึ้น กรณีนี้นายกฯมีข้อสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยกำชับหน่วยงานท้องถิ่น ดูแลจัดเก็บและทำลายขยะติดเชื้อให้ถูกวิธี เพื่อไม่ให้กลายเป็นแหล่งแพร่ระบาดในชุมชน ตามข้อแนะนำกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
วันเดียวกัน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กว่า โอมิครอนที่ผ่านมากว่า 1 เดือน เรามีข้อมูลและรู้จักโอมิครอนมากขึ้น เรารู้ว่าติดต่อง่ายกว่าสายพันธุ์เดิมที่เคยมีมา เรารู้ว่าหลบหลีกภูมิต้านทาน การให้วัคซีน 2 เข็มไม่เพียงพอแน่นอน ต้องการระดับภูมิต้านทานที่อยู่สูงตลอดเวลาเพื่อลดความรุนแรงของโรค เรารู้ว่าโอมิครอนรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นที่ผ่านมา จากข้อมูลของแอฟริกาใต้ อังกฤษและเดนมาร์ก เห็นชัดเจนว่าผู้ป่วยมีจำนวนมากขึ้น แต่จำนวนที่จะต้องเข้าโรงพยาบาลเป็นเพียง 1 ใน 3 ของสายพันธุ์เดลตา และมีอัตราการเสียชีวิตน้อยลง เรารู้ว่าโอมิครอนชอบระบบทางเดินหายใจส่วนบนมากกว่าที่จะลงปอด เรารู้ว่าถ้าจะตรวจหาโอมิครอนใช้ตัวอย่างทางน้ำลาย ตรวจได้ดี และดีกว่าป้ายจากจมูก เพราะเชื้อชอบลำคอ เรารู้ว่าขณะนี้ทั่วโลกมีการระบาดอย่างมาก โดยเฉพาะในทวีปอเมริกาเหนือ และยุโรป ทั้งที่ฉีดวัคซีน mRNA เป็นวัคซีนหลัก
นอกจากนี้ ศ.นพ.ยงระบุด้วยว่า สายพันธุ์นี้ได้ระบาดไปทั่วโลกแล้วและกำลังมีอัตราเร่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่อัตราการเสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม ประเทศไทยคงจะต้องถอดบทเรียนจากประเทศต่างๆ เพื่อมาใช้ในมาตรการป้องกัน และเราจะต้องอยู่ด้วยกันได้ โอมิครอนอาจจะมาช่วยปิดเกม เพราะเราเร่งฉีดวัคซีน ทำได้เฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศที่กำลังพัฒนาอาจจะต้องให้โอมิครอนช่วยสร้างภูมิต้านทานให้ โอมิครอนอาจจะไม่ดีสำหรับบริษัทวัคซีนก็ได้
ขณะที่ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊กว่า หลังปีใหม่เราคงคุ้นเคยกับการไล่ตะครุบคลัสเตอร์ใหม่ๆ เช่น กรณีของจังหวัดท็อปไฟว์ ไล่เรียงจาก กทม. ชลบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น และเชียงใหม่ ตามลำดับ ทำให้ยอดผู้ป่วยใหม่ รวม ATK ขึ้นไปเป็นสี่พันติดกันสองวันแล้ว ที่จริงก่อนปีใหม่มีผู้ป่วยโอมิครอนใน กทม.ที่นำเข้าเชื้อจากชลบุรีมาก่อนหน้านี้แล้ว ปรากฏการณ์นี้ช่วยยืนยันการเป็นจุดล่อแหลมของร้านอาหารที่เลี่ยงบาลีดัดแปลงให้คล้ายสถานบันเทิง โดยเฉพาะจังหวัดยอดฮิตอันเป็นแหล่งท่องเที่ยว น่าจะมีอีกหลายจังหวัดที่ยังไม่เปิดเผย หากฝ่ายความมั่นคงไม่กวดขันปราบปรามคงได้เห็นยอดโอมิครอนพุ่งขึ้นจนเกินระงับ แม้ความร้ายแรงดูเหมือนจะน้อยกว่าเดลตา แต่ถ้ามีการนำเชื้อไปติดคนกลุ่มเปราะบางที่บ้าน และมีการระบาดวงกว้างจนผู้ป่วยหนักล้นเกิน ภาพความโกลาหลสับสนวุ่นวายเหมือนในอดีตคงกลับมาเยือนเราแน่
ด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จ.กาฬสินธุ์ พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 40 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยคลัสเตอร์สายพันธุ์โอมิครอน เชื่อมโยงกับสองสามีภรรยากลับจากต่างประเทศ และร้านอาหารกึ่งผับในตลาดโรงสี 11 คน การระบาดเชื่อมโยงในสถานศึกษา อ.นามน 11 คน การระบาดในสถานศึกษา อ.ห้วยเม็ก 6 คน พบจากสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน 3 คนและมาจากพื้นที่เสี่ยง 9 คน ขณะที่ นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เฉพาะคลัสเตอร์สองสามีภรรยา มีรายงานผลตรวจยืนยันของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน 195 คน และยอดผู้ป่วยเริ่มทรงตัว วันรุ่งขึ้นทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ รพ.กาฬสินธุ์ และสำนักควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น นำรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน 2 คัน ตั้งจุดคัดครองตรวจหาเชื้อโควิด-19 รอบ 2 ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงคลัสเตอร์โอมิครอน ที่มีประวัติไปใช้บริการในตลาดโรงสี และเชื่อมโยงกับสองสามีภรรยา รวมทั้งกลุ่มเสี่ยงที่สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน ที่บริเวณศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์
ส่วนนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ จ.ขอนแก่น ได้มีมติในการยกระดับมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น โดยมีคำสั่งปิดโรงเรียนหรือสถานศึกษาในทุกระดับและทุกสังกัด รวมทั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกแห่งและทุกสังกัด ไปจนถึงวันที่ 14 ม.ค.ให้จัดการเรียนการสอนตามที่กระทรวงศึกษา ธิการกำหนดในรูปแบบออนไลน์แทน ขณะที่สถานศึกษาที่ดูแลเด็กพิเศษหรือมีลักษณะที่เป็นที่พักประจำ ยังคงจัดการเรียนการสอนได้แต่ไม่อนุญาตให้นักเรียนออกจากสถานศึกษาและห้ามผู้ปกครองหรือบุคคลภายนอกเข้าเยี่ยมเด็ดขาด
ผวจ.ขอนแก่นระบุด้วยว่า นอกจากนี้ ขอความร่วมมือภาคเอกชนพิจารณา Work From Home หรือสลับวันทำงาน การทำงานแบบออนไลน์ ไปจนถึงวันที่ 14 ม.ค.รวมไปถึงการงดจัดกิจกรรมงานวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2565 อย่างเด็ดขาด และจังหวัดยังคงกำหนดให้ส่วนงานราชการทุกแห่งตรวจหาเชื้อแบบ ATK ให้กับพนักงานในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวที่กำหนดขึ้น มีผลทันที หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษตามความผิด มาตรา 9, 10 และ 18 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีความผิดตามมาตรา 35 และ 52 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งยังคงมีความผิดในข้อ 4 ตามความผิดมาตรตรา 34 และ 51 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
ขณะที่ศูนย์โควิด-19 จ.อุบลราชธานี รายงานพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 329 คน ส่วนใหญ่พบมากในพื้นที่ อ.เมืองอุบลราชธานี ถึง 155 คน ส่วนการสุ่มตรวจสายพันธุ์เชื้อ พบเป็นสายพันธุ์โอมิครอน 16 คน อยู่ใน อ.เมืองอุบลราชธานี 11 คน อ.เดชอุดม 3 คน อ.วารินชำราบ 2 คน คิดเป็นร้อยละ 94.1 ส่วนสายพันธุ์เดลตา พบ 1 คน คิดเป็นร้อยละ 5.9 การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่พบระบาดมาจากร้านอาหารกึ่งผับเอกมัย 487 ขณะนี้ มียอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงถึง 619 คน กระจายไปใน 22 อำเภอ จากทั้งหมด 25 อำเภอ มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 1,685 คน อำเภอเมืองเป็นพื้นที่ที่มีคนติดเชื้อมากที่สุด 377 คน และจากการสุ่มตรวจผู้ป่วยจากคลัสเตอร์นี้ 12 คน พบเป็นเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนทั้ง 12 คน คิดเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ของการตรวจหาเชื้อ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ผลจากการแพร่ระบาดในครั้งนี้ ทำให้นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผวจ.อุบลราชธานี มีคำสั่งปิดสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 4-17 ม.ค.2565 ประกอบด้วยโรงเรียนทุกระดับงดการเรียนการสอนที่ใช้อาคารแบบ On Site โดยให้มีการเรียนการสอนผ่านระบบสื่อสารช่องทางหลัก (On air) ระบบอินเตอร์เน็ต (On line) แอปพลิเคชัน (On demand) และการให้แบบฝึกหัด ให้การบ้านไปทำที่บ้าน (On hand) ตามความเหมาะสม ปิดโรงภาพยนตร์ สถานออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส ทุกแห่ง ปิดลานกีฬา สนามกีฬาหรือสถานที่ออกกำลังกาย ที่ใช้ในการแข่งขัน ฝึกซ้อม และเล่นกีฬาประเภทที่มีการสัมผัสกันระหว่างผู้เล่น ส่วนร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ปิดให้บริการในส่วนที่เป็นห้องปรับอากาศ โดยให้บริการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มเพื่อนำกลับไปบริโภคที่บ้านหรือสถานที่อื่นๆ (Take Away) สำหรับร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีพื้นที่เปิด ที่อากาศสามารถระบายถ่ายเทได้ดี สามารถเปิดให้บริโภคอาหารและเครื่องดื่มในร้านได้
นอกจากนี้ มีรายงานพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนกระจายไปจังหวัดต่างๆ เพิ่มอีก โดย จ.นครราชสีมา พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 23 คน ผู้ป่วยเสียชีวิต 1 ศพ หญิงสูงอายุ อายุ 98 ปี ชาว ต.ลำคอหงษ์ อ.โนนสูง ขณะเดียวกัน ยืนยันพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน 2 คน ส่วนที่ จ.อุตรดิตถ์ พ.อ.สมัย ขำพันธ์ ผอ.รพ.ค่ายพิชัยดาบหัก และ พ.ท.สรารักษ์ ชูสกุล รอง ผอ.รพ.ค่ายพิชัยดาบหัก ร่วมเปิดเผยว่า รพ.ค่ายพิชัยดาบหัก มทบ.35 ตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนรายแรกในจังหวัด เป็นหญิง อายุ 41 ปี เดินทางมาจาก กทม.เมื่อคืนวันที่ 31 ธ.ค.2564 ที่ผ่านมา ด้วยรถส่วนตัวและก่อนเข้าบ้านได้เดินทางมาตรวจ RT-PCR ที่ รพ.ค่ายพิชัยดาบหัก ขณะที่ จ.ลำปาง พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนรายที่ 3 เป็นชายชาว อ.แม่เมาะ ติดจากเพื่อนที่เชียงใหม่
ขณะที่ นพ.ประภาส ผูกดวง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า จังหวัดยืนยันพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มอีก 4 คน ที่ อ.โคกสูง มีประวัติเดินทางไปเที่ยวพัทยา จ.ชลบุรี กับญาติที่มาจากประเทศไอซ์แลนด์ เมื่อวันที่ 23-25 ธ.ค.2564 และเริ่มมีอาการป่วยเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ทำให้มีผู้ติดเชื้อโอมิครอนสะสม 9 คน ส่วนญาติที่มาจากประเทศไอซ์แลนด์อยู่ระหว่างรอผลการส่งตรวจเชื้อที่เมืองพัทยา เช่นเดียวกับนายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เปิดเผยว่า ภาพรวมจังหวัดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 49 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เพิ่มอีก 4 คน รวมสะสม 6 คน โดย 4 รายล่าสุด รายแรกชายชาวสวีเดน อายุ 54 ปี อยู่ที่ ต.เพ อ.เมืองระยอง มาเที่ยวเกาะเสม็ดแบบเทสต์แอนด์โก รายที่ 2 เป็นหญิงไทย อายุ 35 ปี อยู่ที่ ต.เพ อ.เมือง ระยอง รายที่ 3 เป็นหญิงไทย อายุ 32 ปี อยู่ที่ ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง และรายที่ 4 เป็นหญิงไทย อายุ 18 ปี อยู่ที่ อ.นิคมพัฒนา
ส่วนสถานการณ์ใน จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 3 ม.ค.สสจ.ชลบุรีรายงานว่า ยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 351 คน พบมากสุดที่ อ.บางละมุง ถึง 264 คน แต่ไร้ผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม ขณะที่บริเวณชายหาดบางแสน ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี ตลอดวันแม้เป็นวันหยุดชดเชยของเทศกาลปีใหม่ แต่บรรยากาศกลับไม่คึกคักเท่าที่ควร หลังมีข่าวเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนระบาดหนักในร้านอาหารพื้นที่แสนสุข ชายหาดบางแสน และพัทยา ทั้งนี้ นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผวจ.ชลบุรี กล่าวยอมรับว่ามีการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนอย่างรวดเร็ว ทั้งในพัทยาและบางแสน ผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่จะเป็นโอมิครอนประมาณร้อยละ 80 ซึ่งเรื่องนี้ตนสั่งการไปแล้ว โดยเฉพาะร้านอาหาร สถานประกอบการต่างๆ ให้ระดมการตรวจ ATK ทั้งผู้ให้บริการและผู้เข้ารับบริการ ส่วนกรณีผับ-บาร์เบียร์ ที่รัฐบาลและ ศบค.จะเปิดให้บริการวันที่ 15 ม.ค.นี้ ตนไม่แน่ใจว่าจะเปิดให้บริการได้หรือไม่
ต่อมาผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายสยาม ศิริมงคล ผวจ.อุดรธานี เรียกประชุมด่วนคณะกรรมการ โรคติดต่อจังหวัดเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 3 ม.ค. มีการรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีก 75 คน รวมถึงยืนยันพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มเติมจากที่ก่อนปีใหม่พบ 18 คน และหลังปีใหม่พบอีก 8 คน รวมสะสม 26 คน โดยที่พบใหม่ 8 คน เป็นชาย 5 คน หญิง 3 คน มีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงทั้ง กทม. ชลบุรี ขอนแก่น มหาสารคาม และสังสรรค์ในร้านอาหารที่ให้ดื่มเหล้าเบียร์ได้ในพื้นที่ อ.เมืองอุดรธานี จากนั้น ผวจ.อุดรธานีมีคำสั่งให้งดการเรียนการสอน “ออนไซต์” ทุกระดับชั้น และทุกโรงเรียน วันที่ 4-14 ม.ค.65 ปิดศูนย์เด็กเล็กทั้งหมด งดกิจกรรมวันเด็กและวันครู ให้ทุกส่วนราชการ-รัฐวิสาหกิจ คัดกรองข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างที่เดินทางกลับจากจังหวัดเสี่ยง หรือมีญาติ มาจากจังหวัดเสี่ยง ไปร่วมสังสรรค์ในสถานที่เสี่ยงในจังหวัด ให้ออกคำสั่งทำงานอยู่บ้าน รวมทั้งตรวจหาเชื้อด้วย ATK ทั้งก่อนและกลับมาทำงาน ส่วนในระดับอำเภอ-ตำบล-หมู่บ้าน ส่งทีมลงไปเคาะประตูบ้าน ค้นหากลุ่มเสี่ยงสูง ขณะที่ภาคเอกชนให้คัดกรองพนักงานเช่นเดียวกัน
ขณะเดียวกัน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ให้นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. ออกประกาศแนวปฏิบัติเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 หลังจากก่อนหน้านี้ได้กำหนดมาตรการหลังปีใหม่ให้ข้าราชการทำงานเวิร์ก ฟรอม โฮมและหลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่รวมกลุ่ม เพื่อให้สถานศึกษาในสังกัดทุกระดับ ทุกประเภททั่วประเทศ ดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของ ศธ.มีสาระสำคัญคือ ให้สถานศึกษาประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงอย่างรอบด้านของนักเรียนหรือครูที่อาจเป็นกลุ่มเสี่ยง ในช่วงการเปิดเรียนตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.2565 เป็นต้นไป หากมี ให้สถานศึกษาสามารถพิจารณาปรับการเรียนการสอนเป็นระบบการศึกษาทางไกลคือ On air Online On hand และ On demand ได้ตามความเหมาะสม ให้สถานศึกษาประเมินมาตรการการเปิดเรียนของ Thai stop COVID plus และปฏิบัติตามข้อกำหนดของ 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC), 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษาโดยเคร่งครัด และให้สถานศึกษาดำเนินมาตรการตามแผนเผชิญเหตุที่กำหนด กรณีนักเรียน ครู หรือ บุคลากรในสถานศึกษาติดเชื้อโควิด-19
วันเดียวกัน สำนักข่าวการ์เดียนของอังกฤษ รายงานอ้างผลวิจัยของนักวิจัยสถาบันต่างๆ ไม่ว่ามหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล มหาวิทยาลัยลูเวนของเบลเยียม มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ไปจนถึงนักวิจัยในสหรัฐฯ ที่บ่งชี้ว่าเชื้อโควิด-19 ตัวกลายพันธุ์โอมิครอน มีแนวโน้มเป็นอันตรายน้อยกว่าตัวกลายพันธุ์อื่นๆ หลังหลักฐานการวิจัยพบว่า เชื้อโอมิครอนแพร่กระจายในหลอดลมได้ดีกว่าปอด ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมเชื้อถึงมีอัตราการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่เป็นอันตรายเท่ากับเชื้อตัวอื่นก่อนหน้านี้ไม่ว่าโควิด-19 ตัวแรกเริ่ม หรือตัวกลายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายในปอดได้ดี รวมถึงเป็นข้อมูลมาตอกย้ำว่าทำไมการตรวจหาเชื้อด้วยน้ำลายหรือ PCR ตรวจพบโอมิครอนได้ดีกว่าการตรวจแบบ ATK เก็บตัวอย่างจากโพรงจมูก
ด้านกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ ประกาศว่า การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อโควิด-19 กำลังใกล้เข้ามาทุกขณะ เนื่องด้วยผลพวงของเชื้อโอมิครอนที่ติดต่อได้อย่างรวดเร็ว ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสิงคโปร์ถูกตรวจพบว่าเป็นโอมิครอนในสัดส่วนร้อยละ 17 แต่จำนวนคนที่อาการป่วยรุนแรงต้องรับการรักษาตัวในโรงพยาบาลตอนนี้ มีประมาณ 20 คน ลดลงจากช่วงเดือนก่อนหน้านี้ที่สูงถึง 170 คน ส่วนกระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ รายงานการตรวจพบผู้เสียชีวิตจากเชื้อโอมิครอนเป็นครั้งแรกของประเทศ เป็นพลเมือง 2 คน วัยประมาณ 90 ปี ในเมืองกวางจู
https://www.thairath.co.th/news/local/2279316
17 ก.ค. 65 / อ่าน 1727
15 ก.ค. 65 / อ่าน 1620
14 ก.ค. 65 / อ่าน 1715
12 ก.ค. 65 / อ่าน 1622
12 ก.ค. 65 / อ่าน 972
12 ก.ค. 65 / อ่าน 883